“ไบโอซายน์” เปิดแผนขายไอพีโอ หวังนำเงินระดมทุนขยายธุรกิจ ขึ้นแท่น “ผู้นำไบโอเทค” อาเซียน จ่อโรดโชว์ เม.ย.-คาดเข้าเทรดไตรมาส 2 ปี 65 พร้อมบุกวิจัย-พัฒนาและจำหน่าย “วัคซีนในสัตว์” และเวชภัณฑ์สำหรับปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงอย่างครบวงจร
จุดกำเนิดของธุรกิจเกิดจากการรวมตัวกันของ 7 สัตว์แพทย์เมืองไทย !! หลังได้เก็บเกี่ยว “ความรู้และประสบการณ์การทำงานเต็มเปี่ยม” ตัดสินใจผันตัวเองออกมาเป็น “เจ้าของกิจการ” ด้วยจุดแข็งทีมผู้บริหารที่เข้าใจ “ตลาด-คู่ค้า-ลูกค้า” ทำให้ตลอดระยะเวลา 18 ปี ทีมผู้บริหารสามารถปรับตัวและแสวงหาโอกาสคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์คู่ค้า-ลูกค้า
รวมทั้งอุตสาหกรรมมีบทบาทในการควบคุมในส่วนงานของฟาร์มและโรงอาหารอย่างใกล้ชิด ปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้ผลดำเนินงาน “เติบโต” ระดับตัวเลขสองหลักอย่างต่อเนื่อง… สะท้อนผ่าน “มูลค่าตลาดเวชภัณฑ์ในสัตว์” สูงถึงระดับ 33,000 ล้านบาท !!
บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIS หนึ่งในผู้นำธุรกิจยาและเวชภัณฑ์สัตว์ บริษัทน้องใหม่ที่เตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 94 ล้านหุ้น คาดจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในไตรมาส 2 ปี 2565 ด้วยมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท
ปัจจุบัน BIS มีผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพสัตว์ครบวงจรคือ 1.ผลิตภัณฑ์รักษาและป้องกันโรคสำหรับสัตว์ (Animal Health Product) 2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินสำหรับสัตว์ (Nutrition Product) 3. ผลิตภัณฑ์เพื่อการวินิจฉัยโรคสำหรับสัตว์ (Diagnostic Product) 4. ผลิตภัณฑ์อาหารเม็ดสำเร็จรูปสำหรับสัตว์ (Complete Feed Product) 5. ผลิตภัณฑ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ (Ingredient Product) และ 6. ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ (Other Product)
“ธนวัฒน์ คงเจริญสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIS ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หลังเห็นโอกาสและช่องทางการเติบโต และอยากให้ธุรกิจโตแบบยั่งยืน ฉะนั้น ภารกิจแรกที่ต้องทำ นั่นคือ อยากผลักดันการนำบริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากต้องการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งแผนการระดมทุนคือ “ธงผืนใหญ่” ที่ถือเป็นภารกิจต้องรีบดำเนินการ !!
การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น จะไม่ได้ประโยชน์เพียงแค่มีช่องทางการระดมเงินทุนมากขึ้น แต่จะได้เรื่องหน้าตา และความน่าเชื่อของบริษัท โดยมาตรฐานของบริษัทจะถูกยกระดับขึ้นทันที ที่สำคัญยังสามารถดึงดูดแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเพื่อให้บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายเพิ่มอีกด้วย สะท้อนผ่าน ล่าสุดบริษัทเพิ่งได้เซ็นสัญญาเป็นช่องทางจัดจำหน่าย “ผลิตภัณฑ์เพดดิกรี” (Pedigree) อาหารสุนักและแมว ในช่องทางโรงพยาบาลสัตว์และคลินิกสัตว์ โดยเป้าหมายเบื้องต้นปีนี้ทางเพดดิกรีต้องการให้บริษัทขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มเป็น 700 ราย จากเดิมมีฐานลูกค้า 300-400 ราย เนื่องจากเพดดิกรีต้องการสร้างการรับรู้แบรนด์ให้กว้างขึ้น
BIS เปิดแผนไอพีโอ ขึ้นแท่น “ผู้นำไบโอเทค” อาเซียนทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้แทนจำหน่ายยา วัคซีน และเวชภัณฑ์ สำหรับสัตว์กว่า 479 รายการ โดยมาจากแบรนด์ชั้นนำของโลก และมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตัวเองหลากหลายแบรนด์ ซึ่งบริษัทมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่จำนวนมากในอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกอาหารสูงติดอันดับโลก สะท้อนผ่านประเทศไทยเป็นหนึ่งในครัวของโลก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมประเมินมูลค่าการส่งออกอาหารจะสูงกว่า 1,000,000 ล้านบาท ในปี 2564 และมีปริมาณการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคในประเทศและส่งออกมากกว่า 21 ล้านตันต่อปี
ดังนั้น สอดรับกับแผนธุรกิจของบริษัทหลังได้เงินระดมทุนแล้ว ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการ “ก้าวสู่ผู้นำไบโอเทคไทยและอาเซียน” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและจำหน่าย “วัคซีนในสัตว์” และเวชภัณฑ์สำหรับปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยงอย่างครบวงจร และถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นรูปแบบการลงทุนใน “อุตสาหกรรมใหม่” (New S-Curve) ของรัฐบาล
สะท้อนผ่านเงินระดมทุนบริษัทมีแผนนำไปต่อต่อยอดการเติบโตธุรกิจหลัก บ่งชี้ผ่านการลงทุนโครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคระบาดในสุกรร่วมกับสำนักงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (สวทช.) โดยในเบื้องต้นใช้เงินลงทุนใน “การวิจัยและพัฒนา” (R&D) ไปแล้วจำนวน 40 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าวัคซีนดังกล่าวจะดำเนินการวิจัยและพัฒนาแล้วเสร็จในปี 2565 และคาดว่าจะดำเนินการผลิตได้ภายในปี 2567
โดยโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในสุกรมีความสำคัญหลายด้านคือ สามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง อีกทั้ง โครงการดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญในการมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมไบโอเท็คของไทยและอาเซียนในอนาคต
“หากวัคซีนในสุกรสำเร็จคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ภายในปี 2567 และถือเป็นวัคซีนตัวแรกของเมืองไทยและเป็นการวิจัยและพัฒนาโดยสัตว์แพทย์ไทยตัวแรก”
ธนวัตน์ บอกต่อว่า เงินระดมทุนนำไปขยายกำลังการผลิตวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับสัตว์ จำนวน 80-105 ล้านบาท ซึ่งรวมเงินทุนหมุนเวียนในโครงการ โดยมีกำลังผลิตเพิ่มอีก “เท่าตัว” คาดว่าจะเสร็จครึ่งหลังปี 2565 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 300 ตันต่อปี และคาดว่าปีนี้โรงงานจะใช้กำลังการผลิต 50% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ดังนั้น การลงทุนขยายโรงงานและเครื่องจักรดังกล่าวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารที่คาดว่าจะฟื้นตัวตามสภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย หลังจากสถานการณ์การแพรระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) เริ่มคลี่คลาย
และเงินระดมทุนส่วนที่เหลือจะนำไปชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น และเงินกู้ระยะยาว ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินหมุนเวียน
โดย บริษัทมีการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ ด้วยการกระจายฐานลูกค้าทั้ง ขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก บ่งชี้ที่ผ่านมาบริษัทมีกลุ่มบริษัทในกลุ่มอาหารระดับนานาชาติ อาทิ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (เครือซีพี) กลุ่มเบทาโกร , กลุ่มไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป
อย่างไรก็ตาม บริษัทให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ร่วมกับ สถาบันวิจัยชั้นนำของไทย โดยบริษัทประสบความสำเร็จในการร่วมพัฒนาชุดตรวจโรค ASF หรือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรออกสู่ตลาด ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง
อีกทั้ง ในสถานการณ์โควิด-19 บริษัทได้พัฒนาชุดตรวจระบบ Real Time PCR สำหรับใช้ในสัตว์และใช้ในคน ซึ่งถือเป็นบริษัทแรกของไทยที่ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ที่ตอบสนองความต้องการตลาดและขยายธุรกิจให้ครบวงจรยิ่งขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาธุรกิจขยายตัวดีตามอุตสาหกรรมอาหารและการป้องกันโรคระบาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนผ่านผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2562-2564) ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 61.35ล้านบาท 54.45 ล้านบาท และ 68.63 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 1,884.27 ล้านบาท 1,783.71 ล้านบาท และ 1,986.51 ล้านบาท ตามลำดับ
ท้ายสุด “ธนวัฒน์” บอกไว้ว่า เงินระดมทุนในครั้งนี้เรามีเป้าหมายที่แน่นอนเพื่อมาต่อยอดธุรกิจหลักในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการวิจัยและพัฒนา และการขยายโรงงานเพื่อรองรับดีมานด์ในอนาคต แม้ยอมรับว่าตลาดมีการแข่งขันสูงแต่เชื่อว่าบริษัทของไทยก็สามารถแข่งขันกับคู่แข่งต่างชาติได้
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business