รมว.คลัง ส่งสัญญาณปรับโครงสร้างประเทศ หนุนรัฐเก็บรายได้เพิ่มขึ้น ชี้ทุกวิกฤตจำเป็นต้องตั้งงบประมาณขาดดุล เศรษฐกิจฟื้นก็ปรับเพดานลง พร้อมขอบคุณ ผู้ว่าฯ ธปท. เข้าใจภาวะเศรษฐกิจ ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย
วันที่ 8 เมษายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดวิกฤตโควิด และในอดีตที่ผ่านมา ก็เกิดวิกฤต 2 ครั้งในปี 40 และปี 52 ซึ่งในวิกฤตแต่ละครั้งก็ได้มีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งเงินที่กู้มาก็เป็นภาระของคลังด้วย ดังนั้นทุกวิกฤตก็มีการใช้เงิน ทำให้จำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกับหนี้สาธารณะที่มีการปรับเพดานขึ้นเหมือนในอดีต แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวก็มีการปรับเพดานลงมา ซึ่งเป็นการช่วยประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เรื่องที่จำเป็นต้องทำ และในอดีตไม่มีการทำ คือ การปรับโครงสร้างประเทศในด้านการจัดเก็บรายได้จากภาษี ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง มีแต่การทำนโยบายลดอัตราภาษี เช่น ภาษีนิติบุคคล ที่จำเป็นต้องปรับลดลงมา เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ ดังนั้น เมื่อลดภาษีเยอะรายได้ของรัฐก็ไม่เข้า จึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายฐานภาษี
“ในอดีตที่ผ่านมาเราไม่ค่อยทำในเรื่องนี้ จึงทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการลงทุน ซึ่งเป็นการลงทุนถนนหนทางที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับชนบท ทำให้สินค้าออกสู้ตลาดได้ ขณะเดียวกันรายจ่ายประจำก็เพิ่มขึ้นสูงไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งในปัจจุบันก็มีประเด็นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่ในอนาคตจะมีเพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นรายจ่ายของงบประมาณแผ่นดินด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้นจำเป็นต้องปรับโครงสร้างรายได้ ที่ทุกครั้งเมื่อมีการพูด ก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะทุกคนไม่ชอบ ซึ่งกระทบต่อโครงสร้าง และเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังจะต้องทำในช่วงต่อไป” นายอาคม กล่าว
ขณะที่ในด้านนโยบายการเงิน ก็ต้องทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัว และมีโอกาสฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาในอดีต นโยบายอัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวค่อนข้างเร็ว เมื่อเห็นสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ก็มีการปรับนโยบายดอกเบี้ยขึ้นเลย แต่ครั้งนี้ ต้องขอบคุณผู้ว่าแบงก์ชาติที่มีความเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องด้านต้นทุนและไทยก็ยังมีโควิดที่ยังต่อเนื่อง ยังไม่จบ ซึ่งก็ทำให้เห็นว่านโยบายการเงินได้ทำงานร่วมกับนโยบายการคลัง ในขณะที่การคลังมีการใช้จ่ายและเศรษฐกิจก็ยังเริ่มไต่ระดับ ซึ่งไม่ได้โตแบบก้าวกระโดดเหมือนสหรัฐ ที่ในปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อโตถึง 5% ซึ่งถือว่าสูงเกินไป เพราะเป็นเรื่องของอุปสงค์ ในขณะที่ไทยเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเกิดจากต้นทุน
“การทำงานที่ผ่านมาของคลังและแบงก์ชาติมีการประสานกัน ในขณะที่ด้านการคลังก็ไม่ได้มีการใช้จ่ายเกินตัว และในปีงบประมาณ 66 ได้ตั้งงบประมาณขาดดุลลดลง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าต่อไปการขาดดุลยังมีอยู่ แต่จะต้องลดขนาดของการขาดดุลลง”นายอาคม กล่าว
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance